วันศุกร์ที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2558

ข้อมูลสารสนเทศเพื่อการท่องเที่ยว


การนำเอาสารสนเทศไปใช้งานในการท่องเที่ยว อาจแบ่งได้ตามวัตถุประสงค์ของการใช้งานและผู้ใช้งานได้ 3 ประเภทได้แก่ 1) รัฐบาลหรือหน่วยงานของรัฐ มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการวางแผน ปรับปรุงแก้ไขการทำงาน 2) นักท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการวางแผนการท่องเที่ยว และ 3) ธุรกิจท่องเที่ยว มีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ในการปรับปรุงธุรกิจ วางแผนธุรกิจ การตลาด และประชาสัมพันธ์ของธุรกิจ

3.1 มิติของการนำไปวางแผนเพื่อการพัฒนาการท่องเที่ยว

ผู้ที่เกี่ยวข้องในมิติของการนำไปวางแผนพัฒนาคือ รัฐบาล และหน่วยงานองค์การต่างๆ นิศา ชัชกุล (2550 : 389-412) ได้อธิบายระบบข้อมูลและสถิติการท่องเที่ยวว่า ในการพัฒนาประเทศ สิ่งที่ขาดไม่ได้คือข้อมูลและสถิติ ในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ข้อมูลสถิติจะบอกถึงผลงานในอดีตที่ผ่านมาและใช้ในการวางแผนในอนาคต ซึ่งต้องได้มาด้วยกระบวนการทางวิจัย และใช้สถิติที่ถูกต้องเพื่อทำให้ข้อมูลมีคุณภาพน่าเชื่อถือ ความสำคัญของระบบข้อมูลและสถิติการท่องเที่ยวมีดังนี้

•  เพิ่มการลงทุนหรือริเริ่มลงทุน สำหรับผู้ประกอบการทั้งเก่าและใหม่

•  เพื่อวางแผนจัดหาและพัฒนาพนักงานบริการเมื่อมีนักท่องเที่ยวมากขึ้น รวมทั้งการอบรมฝึกฝนเพื่อให้พนักงานบริการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

•  รัฐบาลนำข้อมูลไปใช้ในการพยากรณ์และวางนโยบายสนับสนุนการดำเนินงานของธุรกิจเอกชน และส่งเสริมการท่องเที่ยวให้ตรงเป้าหมาย

ประเภทข้อมูล สามารถแบ่งประเภทของข้อมูลได้ดังนี้

•  จำแนกตามคุณสมบัติ (Qualitative data) คือข้อมูลที่แสดงค่าของข้อมูลในรูปของข้อความ ไมได้อยู่ในรูปของตัวเลข เช่น สัญชาติ เชื้อชาติ วัตถุประสงค์ของการเข้ามา ลักษณะการเดินทาง เช่นสถิติของนักท่องเที่ยวจากยุโรปแยกเพศชายหรือหญิง สถิติแยกตามประเทศที่เข้ามา

•  จำแนกตามปริมาณ (Quantitative data) คือข้อมูลที่แสดงปริมาณหรือขนาดในลักษณะเป็นตัวเลข เช่นจำนวนนักท่องเที่ยวแยกตามรายได้ จำนวนโรงแรมในประเทศไทย

•  จำแนกตามเวลา (Timing data) เช่นสถิติที่เกี่ยวข้องกับช่วงเวลาในการมาเยือนของนักท่องเที่ยว การท่องเที่ยวในบางท้องถิ่นขึ้นอยู่กับฤดูกาลอีกด้วย

•  จำแนกตามภูมิพื้นที่ (Geographic data) เช่นสถิตินักท่องเที่ยวที่เดินทางไปท่องเที่ยวจังหวัดภูเก็ต หรือสถิติของจำนวนห้องพักที่มีในจังหวัดต่างๆ ของประเทศไทย

ข้อมูลสถิติที่สำคัญทางการท่องเที่ยว

1. ประเทศต้นกำเนิดของนักท่องเที่ยว (Country of origin) สถิติที่สำคัญที่สุดที่ใช้เพื่อการวางแผนการท่องเที่ยว คือ การเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวจากประเทศต้นกำเนิดของนักท่องเที่ยว เพราะสถิติดังกล่าวนี้สามารถระบุถึงขอบเขตแห่งความต้องการของนักท่องเที่ยวได้เป็นอย่างดี

2. จำนวนนักท่องเที่ยว (Number of visitors) จำนวนของนักท่องเที่ยวจะเลือกเดินทางเข้าไปในแหล่งท่องเที่ยวเฉพาะจุดหมายปลายทาง ซึ่งถือได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของความต้องการที่จะเดินทางท่องเที่ยวและในทำนองเดียวกันก็เป็นองค์ประกอบด้านการแข่งขันที่ทำให้ความต้องการนั้นมีแนวโน้มลดลงด้วยเช่นกัน

3. ระยะเวลาที่พำนัก (Length of stay) โดยทั่วไปยิ่งนักท่องเที่ยวพำนักนานวันก็ยิ่งเพิ่มความต้องการสูงในด้านโรงแรม ภัตตาคาร ร้านขายของและแหล่งท่องเที่ยวตามไปด้วย

4. จำนวนวันที่พัก (Visitor days) สามารถคำนวณได้โดยใช้จำนวนวันที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามา คูณด้วยผลเฉลี่ยของระยะเวลาที่พำนัก จะช่วยกำหนดความต้องการของนักท่องเที่ยวต่ออุปกรณ์เครื่องใช้ต่างๆ เช่นที่จอดรถ สวนสาธารณะ ชายหาด แหล่งพักผ่อน เพื่อต้องรับนักท่องเที่ยวได้มากขึ้น

5. ค่าใช้จ่ายต่อบุคคล (Per-capita spending) ตัวเลขนี้จะมีประโยชน์ในด้านการเปรียบเทียบทางสถิติของการท่องเที่ยวซึ่งหาได้จากการคำนวณค่าใช้จ่ายของนักท่องเที่ยวเป็นรายวันคือ จำนวนรวมของค่าใช้จ่ายต่อบุคคล หารด้วยจำนวนวันที่พัก ข้อมูลดังกล่าวยังนำไปใช้ในการวางแผนโฆษณาการท่องเที่ยวโดยคำนึงถึงองค์ประกอบอื่นๆ เช่น จำนวนนักท่องเที่ยวต่อเดือน ต่อฤดูกาล เป็นต้น

6. เหตุผลที่มาท่องเที่ยว (Reason for visits) ซึ่งจะเกี่ยวข้องกันระหว่างวัตถุประสงค์ของการมาของนักท่องเที่ยว กับความต้องการที่นักท่องเที่ยวคาดหวังจากการบริการต่างๆ ทางการท่องเที่ยว การแบ่งแยกความแตกต่างระหว่างนักท่องเที่ยวที่ไม่พักค้างคืนกับที่พักค้างคืน เป็นต้น

7. ประเภทของสถานที่พักที่ต้องการ (Type of accommodation required) ซึ่งจะสัมพันธ์กับประเภทของนักท่องเที่ยวซึ่งต้องการมาด้วยวัตถุประสงค์ในการท่องเที่ยวอย่างไร

8. ประเภทของยานพาหนะที่ใช้ (Type of transportation used) ทำให้เห็นถึงประเภทของโครงสร้างพื้นฐาน และโครงสร้างด้านการบริการทางการท่องเที่ยวระดับสูงซึ่งเป็นความต้องการของนักท่องเที่ยวด้วย

9. ระยะเวลาการเดินทางเข้ามาถึง (Time period of tourist arrivals) การกำหนดช่วงสูงสุด (peaks) และช่วงต่ำสุด (valleys) ในรอบหนึ่งปีที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาและเดินทางกลับออกไปจะเป็นประโยชน์หลายประการในอุตสาหกรรมและธุรกิจการท่องเที่ยว เช่น การเตรียมพนักงานเจ้าหน้าที่ไว้ให้พร้อมที่ท่าอากาศยาน พรมแดนเข้าออก การวางแผนโฆษณา เพื่อดึงดูดนักท่องเที่ยว เป็นต้น

10. ข้อมูลทางเศรษฐกิจของนักท่องเที่ยว (Socioeconomic profiles) เช่น อายุ สถานภาพการสมรส ขนาดของครอบครัว อาชีพ และระดับรายได้ ข้อมูลเหล่านี้จะนำมาใช้ประโยชน์ในการวางแผนโฆษณา และประชาสัมพันธ์เพื่อให้ข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการให้ความรู้เบื้องต้นแก่ผู้ที่จะเป็นนักท่องเที่ยวในอนาคต นอกจากนี้ข้อมูลยังเอามาใช้ในการวางแผนกลยุทธ์ทางการตลาดเพื่อการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพ

3.2 มิติของการนำไปวางแผนเพื่อการเดินทางท่องเที่ยว

มิตินี้เกี่ยวข้องโดยตรงกับนักท่องเที่ยว เพราะนักท่องเที่ยวจะสนใจข้อมูลเพื่อนำมาใช้ในการตัดสินใจ การใช้ข้อมูลด้วยการสืบค้นข้อมูล (Information searching) เช่น ข้อมูลแหล่งท่องเที่ยว ข้อมูลการเดินทาง ข้อมูลการใช้จ่ายเงิน ข้อมูลที่พัก ข้อมูลร้านอาหารที่ชื่นขอบ เมื่อพอใจในสินค้าและบริการ ก็ตกลงซื้อสินค้าและบริการนั้น (Purchasing products) โดยอยู่บนพื้นฐานของข้อมูลที่ได้รับและติดสินใจ (Making decision) นอกจากนี้นักท่องเที่ยวยังใช้สื่อสารข้อมูลไปยังเพื่อหรือญาติพี่น้อง (communicating with friends and family) ก่อนการเดินทาง ระหว่างการเดินทาง และภายหลังการเดินทาง การใช้ข้อมูลเพื่อการวางแผนท่องเที่ยว เนื่องจากนักท่องเที่ยวแบบใหม่เปลี่ยนพฤติกรรม ทัศนคติในการท่องเที่ยว ซึ่ง Roger Carter (2005) ได้สรุปการเปลี่ยนแปลงของนักท่องเที่ยวยุคใหม่ไว้น่าสนใจดังนี้

•  ต้องการมากขึ้นและใช้เวลาวันหยุดสั้นลง

•  Makes decisions later, reducing the lead time

•  ค้นหาข้อเสนอที่เป็นปัจเจกมากขึ้น เช่น ข้อเสนอที่ดีกว่า การให้บริการที่ดีกว่า รางวัล ข้อมูลสินค้าและแหล่งท่องเที่ยวที่รวดเร็ว ทันที เป็นปัจจุบัน

•  Is more mobile and critical; more brand aware but less loyal; more price sensitive

•  นักท่องเที่ยวมีความรู้มากขึ้นเกี่ยวกับการท่องเที่ยวระหว่างประเทศ

•  เข้าถึงอินเตอร์เน็ตได้มากขึ้น มีข้อมูลเชิงลึกในข้อมูลการท่องเที่ยว และสามารถทำการจองล่วงหน้าได้ผ่านระบบอินเตอร์เน็ต

•  เข้าถึงการเดินทางระหว่างประเทศด้วยต้นทุนต่ำ

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น